หลักสูตรสัมพันธ์วิชา (correlated curriculum)



หลักสูตรสัมพันธ์วิชา
 (correlated curriculum)




หลักสูตรสัมพันธ์วิชาหรือหลักสูตรแบบสหสัมพันธ์ (correlated curriculum)
          เป็นรูปแบบของหลักสูตรที่จัดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดความสัมพันธ์กันของรายวิชาที่เกี่ยวข้องกัน โดยนำเอาเนื้อหาของวิชาต่าง ๆ ที่สอดคล้องหรือส่งเสริมซึ่งกันและกันมาเชื่อมโยงเข้าหากันแล้ววิชาสอนเนื้อหาเหล่านั้นในคราวเดียวกัน แต่ถึงกระนั้นความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละวิชาก็ยังคงอยู่ เช่น นำวิชาศิลปะไปสัมพันธ์กับวิชาประวัติศาสตร์ทำหลักเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์มาเชื่อมโยงกับวิชาวิทยาศาสตร์ เป็นต้น การจัดการเรียนการสอนยึดครูเป็นศูนย์กลาง การวัดผลการเรียนรู้ยังเน้นพัฒนาการด้านเชาวน์ปัญญา

     ลักษณะของหลักสูตร
          เนื้อหาวิชามีความสัมพันธ์กันในหมวดวิชา หรือระหว่างวิชาโดยพยายามกำหนดเนื้อหาวิชาใดวิชาหนึ่ง หรือหมวดวิชาใดหมวดวิชาหนึ่งตามเนื้อหาสาระและโครงสร้างของวิชา นั้น ๆ แล้วนำเนื้อหาสาระวิชาอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กันมารวมเข้าไว้ด้วยกัน


  ข้อดี
     1. เนื้อหาวิชามีความสัมพันธ์สอดคล้องและผสมผสานกันดียิ่งขึ้นทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้ที่เชื่อมโยงกัน
     2. ครูผู้สอนได้มีโอกาสวางแผนการสอนและดำเนินการสอนร่วมกัน ส่งผลให้เกิด จุดมุ่งหมายการเรียนรู้ที่แน่นอน
     3. สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างหลากหลาย ผู้เรียนมีโอกาสเข้าร่วม กิจกรรม และมีประสบการณ์ตรงมากขึ้น
     4. ผู้เรียนมีโอกาสเรียนในสิ่งที่ตนสนใจ และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
     5. ขจัดความซ้ำซ้อนในเนื้อหาวิชาหรือหมวดวิชา

ข้อด้อย
     1. การจัดเนื้อหาให้สัมพันธ์กันทำได้ยาก หากนำวิชาที่มีความสัมพันธ์กันน้อยเข้ามาสัมพันธ์กัน อาจทำให้วิชานั้นมีเนื้อหามากเกินไป
     2. หากครูผู้สอนเตรียมการสอนไม่ดีพอ หรือขาดความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันจะทำให้ ผู้เรียนเกิดความสับสน
     3. ทำให้คาบเวลาเรียนยาวนานเกินไป
     4. ครูผู้สอนอาจจะมีปัญหาในเรื่องเวลาที่จะต้องมาวางแผนร่วมกัน หรือเกิดการ ไม่ยอมรับ เนื่องจากทำให้ยุ่งยากมากขึ้น

      สรุปหลักสูตรรายวิชา มีข้อบกพร่องหลายด้าน นักพัฒนาหลักสูตรจึงพยายามแก้ไขปรับปรุง ให้รายวิชาต่าง ๆ ในหลักสูตร มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันมากขึ้น กล่าวคือ ผู้สอนตั้งแต่คนขึ้นไป ร่วมกันจัดการเรียนการสอนโดยสอนหัวเรื่องเดียวกัน แล้วเชื่อมโยงไปสู่รายวิชาที่เกี่ยวข้องกัน เช่น การสอนเรื่องเงา ครูวิทยาศาสตร์สอนการเกิดเงา  ครูคณิตศาสตร์สอนการวัดระยะทางโดยการวัดเงา คิดคำนวณเรื่องเงาในช่วงเวลาต่าง ๆ จัดทำกราฟของเงาในระยะ 
ต่าง ๆ ครูศิลปะสอนเทคนิคการวาดรูปที่มีเงา การจัดโครงสร้างของหลักสูตรสัมพันธ์วิชา ยังคงได้แนวคิดมาจากปรัชญาการศึกษาแบบสารัตถนิยม การจัดหลักสูตรแยกเป็นรายวิชา แต่นำหัวข้อของรายวิชาต่าง ๆ มาเชื่อมโยงกัน ผู้สอนยังคงรับผิดชอบรายวิชาของตนเอง และเน้นบทบาทการสอนของครูเป็นสำคัญ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น