หลักสูตรประสบการณ์ (The Experience
Curriculum)
หลักสูตรประสบการณ์
หลักสูตรประสบการณ์ (experience
curriculum) เป็นหลักสูตรที่เกิดขึ้นจากความพยายามที่จะแก้ไขการเรียนรู้แบบครูเป็นผู้สอนเพียงฝ่ายเดียว
โดยไม่คำนึงถึงความต้องการและความสนใจของผู้เรียนซึ่งเป็นข้อบกพร่องของหลักสูตรแบบเนื้อหาวิชา
หลักสูตรแบบนี้ยึดหลักการที่ว่า “การเรียนรู้เกิดจากประสบการณ์
และประสบการณ์สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้” ดังนั้นการจัดหลักสูตรจึงเน้นเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับผู้เรียน
โดยวิธีการแก้ปัญหา ผู้เรียนต้องรู้จักวิธีการแก้ปัญหา
แสดงออกด้วยการลงมือกระทำ ลงมือวางแผน เพื่อหาประสบการณ์อันเกิดจากการแก้ปัญหานั้น
ๆ ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการเรียนแบบการเรียนรู้ด้วยการกระทำ (
Learning by Doing)
ลักษณะของหลักสูตรประสบการณ์
1. ความสนใจของผู้เรียนเป็นตัวกำหนดเนื้อหา
กิจกรรม หรือประสบการณ์ ต้องสอดคล้องกับความต้องการ ความสนใจ
และความถนัดของผู้เรียน
2. วัตถุประสงค์ของการเรียนแบบนี้
เพื่อมุ่งปรับปรุงความเป็นอยู่ในปัจจุบันของเด็ก ยิ่งกว่าที่จะเตรียมตัวเพื่ออนาคต
3. วิชาที่ผู้เรียนทุกคนต้องเรียนคือวิชาที่ผู้เรียนมีความสนใจร่วมกัน
ดังนั้นจึงกำหนดเนื้อหาจากความสนใจของผู้เรียนเป็นคราว ๆ ไป
ไม่ได้ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า
4. ใช้วิธีแก้ปัญหาเป็นหลักในการจัดการเรียนรู้
5. มุ่งที่จะให้การศึกษาและเอาใจใส่ต่อนักเรียนเป็นรายบุคคล
และส่งเสริมความแตกต่างระหว่างบุคคล
6. การเรียนแบบประสบการณ์ในต่างโรงเรียน
ต่างชั้นกันย่อมไม่เหมือนกัน การเรียนแบบนี้นักการศึกษาทำไปต่าง ๆ กัน แต่ก็สามารถรวบรวมเข้าเป็น 2 พวก คือ
6.1 ใช้ปัญหาในชีวิตปัจจุบันเป็นหลัก
คือให้ครูและเด็กร่วมมือกันวางโครงการที่จะหาและเลือกเอาปัญหาที่มีความหมายต่อผู้เรียน
และเป็นปัญหาในชีวิตจริง ปัญหานี้จะต้องเหมาะสมกับวุฒิภาวะ ความต้องการ
และความสนใจด้วย
6.2
ใช้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นหลัก
สถานการณ์ที่จะจัดขึ้นสำหรับการเรียนแบบนี้จะต้องคำนึงถึง
- เป็นสถานการณ์ที่ส่งเสริมให้เด็กได้ใช้ความสามารถแสดงออกมา
- ให้เด็กได้ร่วมมือในกิจกรรมของสังคม
หรือส่วนรวม
- ให้เด็กมีทักษะและความสามารถที่จะปรับตัวและจัดการกับสิ่งแวดล้อม
การจัดการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ (Experiential
Learning)
การจัดการเรียนรู้ในปัจจุบัน
ครูต้องคำนึงถึงการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญและพยายามให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยการกระทำ
ครูจัดการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้
ต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล เน้นการแก้ปัญหา ครูต้องทำหน้าที่เป็นนักวางแผน นักจิตวิทยา นักแนะแนว
และนักพัฒนาการ ส่วนการประเมินผลการเรียนรู้จะประเมินจากพัฒนาการของผู้เรียนในทุกๆ ด้าน โดยยึดปรัชญาการศึกษาแบบพิพัฒนาการ (Progressivism)
ในการจัดการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์
ทิศนา แขมมณี (2545:130 – 131) ได้กล่าวถึงการจัดการเรียนรู้ไว้
ดังนี้
1. หลักการ
ประสบการณ์เป็นแหล่งที่มาของการเรียนรู้และเป็นพื้นฐานสำคัญของการเกิดความคิด
ความรู้ และการกระทำต่าง ๆ การเรียนรู้โดยอาศัยประสบการณ์ (Johnson &
Johnson, 1975 : 7) สามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนและมีความหมายต่อตน
เนื่องจากเป็นการเรียนรู้ที่เริ่มจากประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมเห็นได้ชัดเจน
จึงสามารถนำไปสู่การเรียนรู้เชิงนามธรรมอันจะส่งผลต่อการคิด
การปฏิบัติหรือการกระทำใหม่ ๆ ต่อไป
การที่ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรงและค้นพบการเรียนรู้ด้วยตนเอง จะช่วยให้การเรียนรู้นั้นมีความหมายต่อตนเอง
และจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกผูกพัน
ความต้องการและความรับผิดชอบทีจะเรียนรู้ต่อไป
2. นิยาม
การจัดการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ หมายถึง
การดำเนินการอันจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามเป้าหมายโดยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์
(experience)
ที่จำเป็นต่อการเยนรู้ในเรื่องที่เรียนรู้ก่อน แล้วจึงให้ผู้เรียนย้อนไปสังเกต
ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นและนำสิ่งทีเกิดขึ้นมาคิดพิจารณาไตร่ตรองร่วมกันจนกระทั่งผู้เรียนสามารถสร้างความคิดรวบยอดหรือสมมติฐานต่าง
ๆ ในเรื่องที่เรียนรู้ แล้วจึงนำความคิด
หรือสมมติฐานเหล่านั้นไปทดลองหรือประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ใหม่ ๆ ต่อไป
3.
ตัวบ่งชี้
3.1 ผู้สอนมีการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ (learning
experience)
ในเรื่องที่เรียนรู้ ให้ผู้เรียนได้ลงไปประสบด้วยตนเอง
3.2 ผู้เรียนมีการสะท้อนความคิด (reflect) และอภิปรายร่วมกัน
เกี่ยวกับสิ่งที่ได้ประสบมา หรือเดขึ้นในสถานการณ์การเรียนรู้นั้น
3.3 ผู้เรียนมีการสร้างความคิดรวบยอด/หลักการ/สมมติฐานจากประสบการณ์ที่ได้รับ
3.4 ผู้เรียนมีการนำความคิดรวบยอด/หลักการ/สมมติฐานต่าง ๆ ที่สร้างขึ้น
ไปทดลองหรือประยุกต์ใช้สถานการณ์ใหม่ ๆ
3.5 ผู้สอนมีการติดตามผล
และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแลกเปลี่ยนผลการทดลอง/ประยุกต์ใช้ความรู้
เพื่อขยายขอบเขตของการเรียนรู้ หรือปรับเปลี่ยนความคิด/หลักการ/สมมติฐานต่าง ๆ
ตามความเหมาะสม
3.6
ผู้สอนมีการวัดและประเมินผล โดยใช้การประเมินผลการเรียนรู้ของตนเองของผู้เรียน
ประกอบกับการประเมินผลของผู้สอนด้วย
ข้อดีและข้อด้อยของการจัดหลักสูตรแบบประสบการณ์
ข้อดี
1. ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรง
ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้มาก สามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
2. ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
ได้รู้จักการวางแผนการเรียนด้วยตนเอง ได้มีโอกาสทดลอง
แก้ไขปัญหาได้อย่างมีเหตุมีผล มีความรับผิดชอบในตนเองต่อการศึกษา
3. ผู้สอนและผู้เรียนมีโอกาสได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด
และมีความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น
4. สอดคล้องกับความต้องการและความสนใจของผู้เรียน
5. ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรม
ทำให้เกิดความกระตือรือร้นในการเรียน
6. มีความยืดหยุ่นในเรื่องของเวลา
และวิธีจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย กิจกรรม การเรียนรู้ครอบคลุมเนื้อหาได้กว้างขวาง
กระบวนการเรียนรู้เป็นไปตามขั้นตอน
ข้อด้อย
1. การจัดทำหลักสูตรทำได้ยาก
2. ถ้าครูผู้สอนไม่มีความกระตือรือร้น
ไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการสอน ขาดความเข้าใจในจิตวิทยาการเรียนรู้และพัฒนาการของผู้เรียนแล้ว
การจัดการเรียนรู้ก็ไม่ประสบ ความสำเร็จ
3. การจัดกิจกรรมหรือประสบการณ์ต่าง
ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง หรือชีวิตจริงของเด็กแต่ละคนกระทำได้ยาก
4. เนื้อหาสาระที่ผู้เรียนได้รับ
อาจจะไม่สัมพันธ์กับพัฒนาการของผู้เรียน หรือ ได้เนื้อหาสาระไม่ครบถ้วนและขาดความต่อเนื่องของความรู้
ไม่ได้รับความรู้เป็นกอบเป็นกำ หลักสูตรนี้ใช้ได้ดีกับผู้เรียนระดับประถมศึกษา เพราะสามารถจัดกิจกรรมหรือประกอบการเรียนรู้ได้ง่ายกว่าเด็กโต
5. ต้องมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเรียนรู้
เช่น ห้องเรียน สื่อการเรียนรู้ แหล่งการเรียนรู้ต่าง
ๆมิฉะนั้นการจัดการเรียนรู้จะไม่บังเกิดผล
การเปรียบเทียบการจัดการเรียนการสอนทางตรงกับการสอนแบบเน้นประสบการณ์
การจัดการเรียนการสอนในปัจจุบัน ข้าพเจ้าจัดการเรียนการสอนแบบทางตรง
ซึ่งใช้ได้ดีกับเนื้อหาหลักภาษาไทย
เพราะสามารถจัดเนื้อหาสาระอย่างเป็นไปตามลำดับขั้นตอน จากขั้นพื้นฐานไปสู่ขั้นสูงที่ซับซ้อนขึ้น
มีการยกตัวอย่างประกอบ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนซักถาม
ทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้เร็วขึ้น
ส่วนการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ เป็นการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม ทำให้ผู้เรียนมีโอกาสได้เคลื่อนไหว ใช้ความคิด
ลงมือทำ ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการตื่นตัวรอบด้าน
ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีตามมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น