กิจกรรม (Activity)




กิจกรรม (Activity)
1.สืบค้นจากหนังสือหรือเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เรื่อง พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตร
ตอบ
การพัฒนาหลักสูตรนั้นจำเป็นต้องอาศัยพื้นฐานในการพัฒนาที่สำคัญ ซึ่งประกอบด้วยพื้นฐานอย่างน้อย 3 ด้าน คือ พื้นฐานด้านปรัชญา พื้นฐานด้านจิตวิทยา และพื้นฐานด้านสังคม รวมไปถึงพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านอื่นๆ ซึ่งมีความสำคัญดังต่อไปนี้
1.พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านปรัชญา
ปรัชญาการศึกษานั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาหลักสูตร โดยใช้กำหนดจุดมุ่งหมาย เลือกเนื้อหาสาระและนำมาจัดหลักสูตรได้อย่างเป็นระบบ ทำให้หลักสูตรนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น
            ปรัชญากับการศึกษามีความสัมพันธ์กันคือ  ปรัชญามุ่งศึกษาชีวิตและจักรวาล ส่วนการศึกษามุ่งศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์ ปรัชญาและการศึกษามีจุดสนใจร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งคือ การจัดการศึกษาต้องอาศัยปรัชญาในการกำหนดจุดมุ่งหมายและหาคำตอบทางการศึกษา
            ปรัชญาการศึกษา คือ แนวความคิด หลักการ และกฎเกณฑ์ ในการกำหนดแนวทางในการจัดการศึกษา นอกจากนี้ปรัชญาการศึกษายังพยายามทำการวิเคราะห์และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษา สามารถมองเห็นปัญหาของการศึกษาได้อย่างชัดเจน

        2. ลักษณะปรัชญาการศึกษา
ปรัชญาการศึกษาจะต้องมีโครงสร้างที่เป็นระบบที่แน่นอนพอสมควร โดยทั่วไปประกอบด้วยประเด็นดังนี้
            1. คำจำกัดความของการศึกษา
            2. ความมุ่งหมายของการศึกษา
            3. นโยบายหรือแนวทางเพื่อการปฏิบัติในการจัดการศึกษา
            4.  เรื่องอื่นๆ เช่น วิธีการสอนที่จะให้เกิดการเรียนรู้
         วิชัย วงษ์ใหญ่ (2554) สรุปสาระสำคัญของปรัชญาการศึกษาไว้ ดังนี้
                    สารัตถนิยม (Essentialism) การศึกษาเป็นเครื่องมือถ่ายทอดวัฒนธรรม และอุดมการณ์ทางสังคม การจัดการเรียนการสอนเน้นการถ่ายทอดเนื้อหาสาระต่างๆ ให้กับผู้เรียน

                    นิรันตรนิยม / สัจจนิยม (Perennialism) มนุษย์มีความสามารถในการใช้เหตุผล การควบคุมตนเอง การจัดการเรียนการสอนเน้นให้ผู้เรียนจดจำ การใช้เหตุผล และตั้งใจทำสิ่งต่างๆ
                    อัตถิภาวนิยม / สวภาพนิยม (Existentialism) มนุษย์แต่ละคนเป็นผู้กำหนดหรือแสวงหาสิ่งสำคัญ และตัดสินใจด้วยตนเอง การจัดการศึกษาจึงให้เสรีภาพในการเรียนรู้ให้ผู้เรียนรู้จักตนเอง
                    ปฏิรูปนิยม (Reconstructionism) การปฏิรูปสังคมเป็นหน้าที่ของสมาชิกในสังคม การจัดการเรียนการสอน เน้นให้ผู้เรียนเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสังคม เพื่อการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม
                    พิพัฒนนิยม (Progressivism) การดำรงชีวิตที่ดี อยู่บนพื้นฐานของการคิดและการกระทำ การจัดการเรียนการสอน เน้นให้ผู้เรียนคิด ลงมือกระทำ และแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง
            นอกจากนี้ วิชัย วงษ์ใหญ่ กล่าวถึงประโยชน์ของวิธีการทางปรัชญาที่มีต่อการพัฒนาหลักสูตร ไว้ดังนี้
         1.การจัดจำแนกระบบความคิดความเชื่อพื้นฐานทางการศึกษาที่จะสะท้อนไปสู่การพัฒนาหลักสูตร
         2.ปรัชญาเป็นพื้นฐานและเป็นตัวนำไปสู่การตรวจสอบ เสนอแนะเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของการศึกษา ตรวจสอบความสอดคล้องของจุดมุ่งหมายการศึกษากับสังคม
          3.กระบวนการพัฒนาหลักสูตรจะต้องศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลอย่างกว้างขวาง วิธีการทางปรัชญาจะช่วยทำให้เกิดความคิดแบบองค์รวม มีเอกภาพทางความคิด
          4.วิธีการทางปรัชญา จะทำการวิเคราะห์สาระและธรรมชาติของการศึกษา เช่น ความรู้อะไรที่เป็นประโยชน์ และการจัดการศึกษาอย่างไร จึงจะพัฒนาชีวิตของคนให้มีคุณภาพ

3. พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านจิตวิทยา
 ในการจัดทำหลักสูตรนั้น นักพัฒนาหลักสูตรต้องศึกษาข้อมูลพื้นฐานทางจิตวิทยา ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เรียนว่าผู้เรียนเป็นใคร มีความต้องการและความสนใจอะไร มีพฤติกรรมอย่างไร จิตวิทยาการเรียนรู้จะถูกนำมาใช้เพื่อให้ได้ความรู้ในเรื่องธรรมชาติของการเรียนรู้และปัจจัยทางจิตวิทยาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งทฤษฎีการเรียนรู้ได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆได้แก่
            1. ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism)
            2. ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มปัญญานิยม (Cognitivism)
            3. ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มมนุษย์นิยม (Humanism)
            4. ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มสรรค์สร้างนิยม (Constructivism)
        นอกจากข้อมูลที่เกี่ยวกับจิตวิทยาการเรียนรู้แล้ว ในการพัฒนาหลักสูตรจำเป็นต้องมีข้อมูลที่เกี่ยวกับพื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านผู้เรียนซึ่งมีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องดังนี้
                โดนัล คลาก (Donald Clark) กล่าวว่าขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูลประชากรกลุ่มเป้าหมายมีความจำเป็นและใช้ประโยชน์ได้มาก เมื่อต้องตัดสินใจเกี่ยวกับการเสนอโปรแกรมการเรียนการสอนซึ่งประกอบด้วยข้อมูลต่างๆดังต่อไปนี้
            - จำนวนผู้เรียน
            - ทำเล/ที่ตั้งของผู้เรียน
            - การศึกษาและประสบการณ์ของผู้เรียน รวมถึงประสบการณ์ในปัจจุบัน
            - ภูมิหลังของผู้เรียน
            - ระดับความสามารถในการปฏิบัติงานที่ต้องการกับระดับทักษะในปัจจุบัน
            - ความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรมของผู้เรียน
            - สิ่งเร้าของผู้เรียน
            - แรงจูงใจของผู้เรียน
            - ความสามารถทางสติปัญญาของผู้เรียน
            - ความสนใจพิเศษหรืออคติของผู้เรียน
              ข้อมูลพื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านผู้เรียน เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคุณลักษณะของประชากรกลุ่มเป้าหมายในการจัดการศึกษา โดยเริ่มจากการวิเคราะห์ภาพรวมของผู้เรียนว่าผู้เรียนอยู่ในระบบการศึกษาแบบใด เพื่อมุ่งค้นหาผู้สอนได้อย่างถูกต้องแน่นอน ซึ่งผลการวิเคราะห์ผู้เรียนจะช่วยปรับปรุงผู้สอนให้สามารถจัดการเรียนการสอนที่ตอบสนองความจำเป็นของผู้เรียน
                คอคซิม ( Cogsim) เสนอแนวคิดในการวิเคราะห์ผู้เรียน โดยกำหนดคำถามเกี่ยวกับผู้เรียนในประเด็นต่างๆดังนี้
                        - ทักษะ(skill) และเจตคติ(attitudes)
                        - ประสบการณ์(experiences)
                        - มโนทัศน์ที่คลาดเคลื่อน(misconceptions)
                        - สถานภาพของผู้เรียน (demographics)
                        - เป้าหมาย(goal)
                        - การนำไปใช้(uses)   
                        - แบบการเรียนรู้ที่ต้องการ(preferred learning styles)
                        - แรงจูงใจ(motivations)
                        - ความสามารถทางภาษา(language abilities)
                        - ศัพท์เฉพาะ(technical vocabularies
                 กรมวิชาการ และคณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ กล่าวสรุปว่า วิธีวิเคราะห์ผู้เรียนที่จะช่วยให้ผู้สอนได้รู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่ม มีขั้นตอนดังนี้
                1. กำหนดจุดมุ่งหมายที่จะใช้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้เรียนแล้วนำไปจัดกลุ่มผู้เรียนในลักษณะกลุ่มเหมือน หรือกลุ่มคละ หรือกลุ่มที่มีจุดมุ่งหมายเฉพาะในเรื่องทักษะ
                2. การเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งมีหลายวิธีเช่น การสังเกต การสนทนา การสัมภาษณ์ การทำแบบทดสอบก่อนเรียน ระเบียนสะสม แฟ้มผลงาน บันทึกสุขภาพ เป็นต้น
                3. วิเคราะห์ผู้เรียนรายบุคคล โดยนำเสนอให้เห็นองค์รวมของผู้เรียนใน 3 ด้านคือ ความสนใจ สติปัญญา วุฒิภาวะ และวิธีการเรียนรู้

4. พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านสังคม
              ข้อมูลพื้นฐานด้านสังคมที่สำคัญที่ควรศึกษาเพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตร คือ ข้อมูลที่เกี่ยวกับสภาพของสังคม และแนวคิดของการพัฒนาการทางสังคมซึ่งมี 5 ยุคคือ
        1.ยุคเกษตรกรรม
        2.ยุคอุตสาหกรรม
        3.ยุคสังคมข่าวสารข้อมูล
        4.ยุคข้อมูลพื้นฐานความรู้
        5. ยุคปัญญาประดิษฐ์
            การศึกษาข้อมูลดังกล่าวนั้นเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำหลักสูตรให้เหมาะสมกับผู้เรียนในยุคสมัยต่างๆ ประการสำคัญอีกประการหนึ่งในการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านสังคมนั้นมุ่งการสร้างเครือข่ายหรือความร่วมมือของชุมชนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการจัดทำหลักสูตร เพราะบางรายวิชา สภาพชุมชนและสังคมไม่เอื้ออำนวยหรือส่งเสริมเท่าที่ควรก็อาจเป็นอุปสรรคในการจัดการศึกษา  โดยข้อมูลพื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านสังคมนี้ สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้จากเอกสารรายงานต่างๆ หรือเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสำรวจ สอบถาม และการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ

5. พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
               ความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การศึกษาจึงต้องสอดคล้องไปกับความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นักพัฒนาหลักสูตรจึงต้องใช้ข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประกอบการกำหนดเนื้อหาของหลักสูตร และวิธีการจัดการเรียนรู้ กล่าวคือกำหนดเนื้อหาที่พอเพียง ทันสมัย ให้ผู้เรียนได้ทราบถึงผลกระทบที่เกิดจากความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กำหนดให้ใช้วิธีการและสื่อการเรียนอันทันสมัย เช่น การสอนแบบทางไกล การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน การใช้อินเทอร์เน็ต (internet) ในการจัดการเรียนรู้ เป็นต้น
               พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะเกี่ยวข้องกับการจัดทำหลักสูตรใน 2 ลักษณะคือ
               1.นำมาเป็นข้อมูลในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อพัฒนาคนให้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงในสังคม
               2.ใช้ในการพัฒนากระบวนการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
               ดังนั้นการศึกษาข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีผลทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มความเจริญในอนาคต จะทำให้สามารถพัฒนาหลักสูตรที่สามารถพัฒนาคนในสังคมให้มีศักยภาพเหมาะสมกับการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ตามความต้องการของสังคม

 6. พื้นฐานทางด้านการเมือง การปกครอง
การเมืองการปกครองมีความสัมพันธ์กับการศึกษา หน้าที่ที่สำคัญของการศึกษาคือ การสร้างสมาชิกที่ดีให้กับสังคมให้อยู่ในระบบการเมืองการปกครองทางสังคมนั้น หลักสูตรจึงต้องบรรจุเนื้อหาสาระและประสบการณ์ที่จะปลูกฝังและสร้างความเข้าใจให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสันติสุข ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน จัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับสภาพของสังคม เช่น การมุ่งเน้นพฤติกรรมด้านประชาธิปไตย เป็นต้น ข้อมูลที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองที่ควรจะนำมาปรับพื้นฐานประกอบการพิจารณาในการพัฒนา หลักสูตร เช่น ระบบการเมือง ระบบการปกครอง นโยบายของรัฐ เป็นต้น

 7. พื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ
  ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมที่มีสภาพเศรษฐกิจดี จะทำให้สามารถจัดการศึกษาให้กับคนในสังคมได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
                ประเด็นที่ควรพิจารณาในการพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสมกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
                1. การเตรียมกำลังคน การศึกษาผลิตกำลังคนในด้านต่าง ๆ ให้เพียงพอ พอเหมาะ สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละสาขาอาชีพ คือมีความรู้ ทักษะ และคุณสมบัติต่าง ๆ ตรงตามที่ต้องการทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ
                2. การพัฒนาอาชีพ จัดหลักสูตรเพื่อพัฒนาอาชีพตามศักยภาพและท้องถิ่น
                3. การขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรม พัฒนาหลักสูตรให้สามารถพัฒนาคนให้มีความพร้อมสำหรับการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรม
                4. การใช้ทรัพยากรให้หลักสูตรเป็นเครื่องปลูกฝังความสำคัญของทรัพยากร ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
                5. การพัฒนาคุณลักษณะของบุคคลในระบบเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริงของสังคม
                6. การลงทุนทางการศึกษา คำนึงถึงคุณค่าและผลตอบแทนของการศึกษา เพื่อไม่ก่อให้เกิดความสูญเปล่าระบบการนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
    
2.ศึกษาทำความเข้าใจเพิ่มเติมจาก สุเทพ อ่วมเจริญ การพัฒนาหลักสูตร : ทฤษฎีและการปฏิบัติ การพัฒนาหลักสูตร : พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตร
ตอบ    คำว่า หลักสูตรภาษาอังกฤษ เขียนว่า Curriculum มีรากศัพท์มาจากภาษาลาตินว่า“currere” หมายถึง “race – course” หรือเส้นทางที่ใช้วิ่งแข่งขัน เมื่อนำมาใช้ในบริบทของการศึกษา จึงหมายถึง running sequence of courses or learning experience เปรียบเสมือน เส้นทางที่ผู้เรียน จะต้องเรียนรู้และฝึกประสบการณ์ นำไปสู่เป้าหมายความสำเร็จ (วิชัย วงษ์ใหญ่,2554:105)
       ความหมายของหลักสูตรตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2546 คือ ประมวลวิชาและกิจกรรมต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในการศึกษา เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง
       ความหมายของหลักสูตรของนักวิชาการต่างประเทศ
       ความหมายของหลักสูตร ตามความเชื่อทางการศึกษาและความเข้าใจที่แตกต่างกัน ในส่วนนักการศึกษาและนักพัฒนาหลักสูตรของต่างประเทศ ได้ให้ความหมายและคำจำกัดความของหลักสูตรไว้ โดยสรุปดังนี้ (สุเทพ อ่วมเจริญ, 2555 : 2-3)
       บอบบิต (Bobbit, F. 1918) อธิบายคำว่า หลักสูตร หมายถึง วิถีทางที่เปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ที่เด็กแต่ละคน จะต้องก้าวผ่าน เพื่อเติบโตขึ้น นอกจากโรงเรียนแล้ว ประสบการณ์นอกโรงเรียนก็นับเป็นส่วนหนึ่งเช่นกัน
       เซเลอร์ อเล็กซานเดอร์ และเลวิส (Salor, Alexzander and Lewis 1981) ได้ให้คำนิยาม หลักสูตรไว้ว่า หลักสูตร คือ การจัดเตรียมมวลประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดสัมฤทธิ์ผล ความมุ่งหมายทางการศึกษาอย่างกว้างๆ และจุดมุ่งหมายเฉพาะโรงเรียน
       ปริ้น (Print.M., 1993:9) ได้ศึกษานิยามของนักพัฒนาหลักสูตรแล้ว สรุปว่า หลักสูตรจะกล่าวถึง
                แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้
                สิ่งที่เสนอในสถาบันการศึกษา/โปรแกรมการศึกษา
                การนำเสนอในรูปเอกสาร
                รวมถึงผลของประสบการณ์จากการนำเอกสารต่างๆไปใช้
        
       สมิธ (Smith,M.K. 1996) ได้ให้แนวคิดในการนิยาม หลักสูตรตามทฤษฎีและการปฏิบัติหลักสูตร 4 ทิศทาง ดังนี้
            1. หลักสูตรเป็นองค์ความรู้ที่จะส่งผ่านให้ผู้เรียน
            2. หลักสูตรเป็นความพยายามที่จะช่วยให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์
            3. หลักสูตรเป็นกระบวนการ
            4. หลักสูตรเป็น Praxis หมายถึง การปฏิบัติของมนุษย์และความเข้าใจในการปฏิบัตินั้น 
       นอกจากนี้ ผศ. ดร.มาเรียม นิลพันธุ์ ยังได้รวบรวมแนวคิดของนักการศึกษา และนักพัฒนาหลักสูตรของต่างประเทศ เกี่ยวกับความหมายของหลักสูตร นอกจากที่กล่าวมาแล้ว (มาเรียม นิลพันธุ์, 2543 : 6) ดังนี้
       คาสเวลและแคมเบล (Caswell and Cambell, 1935 : 66) ได้ให้คำจำกัดความว่า หลักสูตรเป็นสิ่งที่ประกอบด้วยประสบการณ์ทั้งมวลของเด็ก ภายใต้การแนะแนวของครู
        ไทเลอร์ (Tyler, 1949 : 79) ได้สรุปว่าหลักสูตร เป็นสิ่งที่เด็กจะต้องเรียนรู้ทั้งหมด โดยมีโรงเรียนเป็นผู้วางแผนและกำกับเพื่อให้บรรลุถึงจุดหมายของการศึกษา
       ทาบา (Taba, 1962 : 11) ให้คำสรุปเกี่ยวกับหลักสูตรอย่างสั้น ๆ ว่า หลักสูตรเป็นแผนการเกี่ยวกับการเรียนรู้
        กู๊ด (Good, 1973 : 157) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรไว้ 3 ประการ ดังนี้ คือ
                1.หลักสูตร หมายถึง เนื้อหาวิชาที่จัดไว้เป็นระบบให้ผู้เรียนได้ศึกษา เพื่อสำเร็จหรือรับ
ประกาศนียบัตรในสาขาวิชาหนึ่ง
                2.หลักสูตร หมายถึง เค้าโครงสร้างทั่วไปของเนื้อหาหรือสิ่งเฉพาะที่จะต้องสอน ซึ่งโรงเรียนจัดให้แก่เด็กเพื่อให้สำเร็จการศึกษาและสามารถเข้าศึกษาต่อในทางอาชีพต่อไป
                3.หลักสูตร หมายถึง กลุ่มวิชาและการจัดประสบการณ์ที่กำหนดไว้ให้ผู้เรียนได้เรียนภายใต้การแนะนำของโรงเรียนและสถานศึกษา
       โอลิวา (Oliva, 1992 : 8-9) ได้ให้นิยามความหมายของหลักสูตรโดยแบ่งเป็นการให้นิยามโดยยึดจุดประสงค์ บริบทหรือสภาพแวดล้อม และวิธีดำเนินการหรือยุทธศาสตร์ ดังนี้
                1.การให้นิยามโดยยึดจุดประสงค์ (Purpose) หลักสูตรจึงมีภาระหน้าที่ที่จะทำให้ผู้เรียนควรจะเป็นอย่างไร หรือมีลักษณะอย่างไรหลักสูตรในแนวคิดนี้จึงมีความหมายในลักษณะที่เป็นวิธีการที่นำไปสู่ความสำเร็จตามจุดประสงค์หรือจุดมุ่งหมายนั้น ๆ เช่น หลักสูตร คือ การถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรม หลักสูตร คือ การพัฒนาทักษะการคิดผู้เรียน เป็นต้น
                2.การให้นิยามโดยยึดบริบทหรือสภาพแวดล้อม (Contexts) นิยามของหลักสูตร ในลักษณะนี้จึงเป็นการอธิบายถึงลักษณะทั่วไปของหลักสูตรซึ่งแล้วแต่ว่าเนื้อหาสาระของหลักสูตรนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร เช่น หลักสูตรที่ยึดเนื้อหาวิชา หรือหลักสูตรที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หรือหลักสูตรที่เน้นการปฏิรูปสังคม เป็นต้น
                3.การให้นิยามโดยยึดวิธีดำเนินการการหรือยุทธศาสตร์ (Strategies) เป็นการนิยามในเชิงวิธีดำเนินการที่เป็นกระบวนการ ยุทธศาสตร์หรือเทคนิควิธีการในการจัดการเรียนการสอน เช่น หลักสูตร คือ กระบวนการแก้ปัญหา หลักสูตร คือ การอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม การทำงานกลุ่ม หลักสูตร คือ การเรียนรู้เป็นรายบุคคล หลักสูตร คือ โครงการหรือแผนการจัดการเรียนการสอน เป็นต้น
       โอลิวา ได้สรุปความหมายของหลักสูตรไว้ว่า หลักสูตร คือ แผนงานหรือโครงการที่จัดประสบการณ์ทั้งหมดให้แก่ผู้เรียน ภายใต้การดำเนินงานของโรงเรียน และในทางปฏิบัติหลักสูตรประกอบด้วยจำนวนของแผนการต่าง ๆ ที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร และมีขอบเขตกว้างหลากหลาย เป็นแนวทางของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ต้องการ ดังนั้น หลักสูตรอาจเป็นหน่วย (Unit) เป็นรายวิชา (course) หรือเป็นรายวิชาย่อยต่าง ๆ (sequence of courses) แผนงานหรือโครงการทางการศึกษาดังกล่าวนี้อาจจัดขึ้นได้ทั้งในและนอก
ชั้นเรียนหรือโรงเรียนก็ได้
        ความเห็นของนักวิชาการไทย
        นักวิชาการและนักการศึกษาในประเทศไทย ได้ให้คำจำกัดความของหลักสูตรไว้ ดังนี้
กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ (2521 : 12) ให้ความหมายว่า หลักสูตร คือ ข้อกำหนดที่ประกอบด้วยหลักการ จุดหมาย โครงสร้าง แนวทาง วิธีการ เนื้อหา วัสดุอุปกรณ์ และการจัดการเรียนการสอน
       ธวัชชัย ชัยจิรฉายากุล (2529 : 10-11) กล่าวว่าหลักสูตร หมายถึง กิจกรรมหรือประสบการณ์ทั้งหลายที่โรงเรียนจัดให้กับผู้เรียน                          
       สวัสดิ์ ประทุมราช และคณะ (2521 : 1) ให้ความหมายเกี่ยวกับหลักสูตรว่า เป็นแผนหรือแนวทางของการจัดการศึกษาทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน ที่ชี้แนะให้ผู้บริหารการศึกษา ครู อาจารย์ ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ได้พยายามจัดสรรประสบการณ์ทั้งมวล ตามที่หลักสูตรกำหนดให้แก่ผู้เรียนหรือเยาวชนในชาติได้พัฒนาตนเอง ทั้งในด้านความรู้ ทักษะและคุณสมบัติที่พึงประสงค์ตามจุดหมายของการจัดการศึกษาชาตินั่นเอง
        มาเรียม นิลพันธุ์ (2543 : 6) หลักสูตร หมายถึง เอกสารข้อกำหนดเกี่ยวกับมวลประสบการณ์ เพื่อให้ผู้เรียนมีพัฒนาไปในแนวทางที่ต้องการ
        ศักดิ์ศรี ปาณะกุล (2543 : 2) หลักสูตร หมายถึง ข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนที่เขียนขึ้นอย่างเป็นทางการ หรือผ่านการยกร่างอย่างเป็นระบบ ประกอบด้วยรายละเอียดของหลักการ จุดหมาย โครงสร้างเนื้อหา กิจกรรม แนวทางหรือวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน สื่อ การวัดผลและประเมินผล รวมทั้งข้อกำหนดเกี่ยวกับเวลาของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
       นิรมล ศตวุฒิ (2543 : 87) หลักสูตร หมายถึง ประสบการณ์การเรียนรู้ทั้งหมดที่ผู้รับผิดชอบจัดการศึกษาจัดให้แก่ผู้เรียน ซึ่งประสบการณ์การเรียนรู้เหล่านี้ ครอบคลุมตั้งแต่ประสบการณ์การเรียนรู้ที่คาดหวัง อันได้แก่ประสบการณ์เรียนรู้ที่กำหนดไว้ในจุดหมายของหลักสูตร ประสบการณ์ในขั้นดำเนินการ อันได้แก่ ประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้รับจากเนื้อหาวิชา และการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ตลอดจนประสบการณ์การเรียนรู้ที่เป็นผลของการจัดการเรียนการสอนอันได้แก่ประสบการณ์ที่ผู้เรียนได้รับไปแล้ว และจะนำไปใช้ต่อไปโดยสรุปผลที่ได้จากแบบประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และการประเมินหลักสูตร             
       กาญจนา คุณารักษ์ (2553 : 38) หลักสูตรคือ โครงการหรือแผน หรือข้อกำหนด อันประกอบด้วยหลักการ จุดหมาย โครงสร้าง กิจกรรมและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆในการจัดการเรียนการสอนที่จะพัฒนาผู้เรียนให้เกิดความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ โดยส่งเสริมให้เอกัตบุคคลไปสู่ศักยภาพสูงสุดของตนเอง รู้จักตนเอง มีชีวิตอยู่ในโรงเรียน ในสังคม และในโลกอย่างมีคุณภาพและอย่างมีความสุข
        วิชัย วงษ์ใหญ่ (2554:6) วิเคราะห์ความหมายของหลักสูตรซึ่งโอลิวา (Oliva, 2009:3) ให้ไว้ พบว่าความหมายที่แคบของหลักสูตรคือ วิชาที่สอน ส่วนความหมายที่กว้างของหลักสูตรคือ มวลประสบการณ์ทั้งหลายที่จัดให้กับผู้เรียน ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา ซึ่งเป็นทั้งทางตรงและทางอ้อม
       ธำรง บัวศรี (2542 : 7) ได้กล่าวถึงความหมายของหลักสูตร คือ แผนซึ่งได้ออกแบบจัดทำขึ้นเพื่อแสดงจุดหมาย การจัดเนื้อหากิจกรรม และประมวลประสบการณ์ ในแต่ละโปรแกรมการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนมีพัฒนาการในด้านต่างๆ ตามจุดหมายที่กำหนดไว้
        สุเทพ อ่วมเจริญ (2555:4) สรุปว่าหลักสูตร หมายถึง ศาสตร์ที่เรียนรู้เพื่อนำไปกำหนดวิถีทางที่นำไปสู่การจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนเพื่อการเรียนรู้
       วิพากษ์/นิยาม ความหมายของหลักสูตร
       การให้ความหมาย หลักสูตรของนักการศึกษาต่างประเทศ และนักการศึกษาไทยแตกต่างกันมากมาย เนื่องจากคำว่า หลักสูตรมีความหมายกว้าง และไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะรายวิชาที่อยู่แต่ในห้องเรียนเท่านั้น แต่มีความหมายที่หลากหลาย ทั้งศาสตร์และศิลป์ที่อยู่นอกห้องเรียน บ้างก็ว่าคือข้อกำหนด บ้างก็ว่าคือแผนงาน บ้างก็ว่าคือประสบการณ์ การให้คำนิยามดังกล่าวอยู่ที่ความเชื่อ ความเข้าใจ และมวลประสบการณ์เดิมของคนนั้นๆ นอกจากนั้นก็ให้นิยามตามวิธีดำเนินการ กระบวนการ ยุทธศาสตร์ หรือแม้แต่เทคนิค วิธีจัดการเรียนการสอน


ที่มา : Noppawan Sangseethong. (2556). การพัฒนาหลักสูตร (ออนไลน์). สืบค้นจาก : http://noppawansilpakorn.blogspot.com/ [28 สิงหาคม 2561]


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น